กลุ่มงานจิตอาสา อาสาสมัครทำงานด้วยจิตสาธารณะ (กุศลจิต) ร่วมกับเจ้าหน้าที่บุคลากรทางการแพทย์ โดยยึดอุดมการณ์เมตตาธรรม มิตรภาพบำบัดต่อเพื่อนมนุษย์ ภายใต้หลักหัวใจเดียวกัน (ใจเขาใจเรา) ช่วยเหลือเกื้อกูล ดุจบิดามารดา หรือญาติมิตรที่มีต่อผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยระยะสุดท้าย
มิตรภาพบำบัดทางกาย ความรู้สึกของผู้ป่วยชั้นสุดท้ายในมุมมองของตนเอง ได้แก่
1. ผู้ป่วยที่แพทย์วินิจฉัยด้วยผลการตรวจพิสูจน์ทางการแพทย์แผนปัจจุบันแล้วว่าอยู่ในขั้นสุดท้าย
2. ผู้ป่วยที่รอคิวการผ่าตัด ฉายแสง หรือให้เคมีบำบัด หรือไปไม่ถึงแพทย์
3. ผู้ป่วยและญาติที่เกิดความท้อแท้ สิ้นหวังในจิตใจ แม้ว่าจะเป็นแค่ขั้นต้นๆ
4. ผู้ป่วยหรือญาติที่ท้อแท้สิ้นหวังถึงขั้นคิดจะฆ่าตัวตาย
ควรได้รับการบำบัดด้วยหลักอายตนะ 6 ดังนี้
1. ทางตา ควรให้เขาได้รับรู้มองเห็นทุกอย่างรอบตัว สิ่งแวดล้อมรอบตัว ไม่รกหูรกตา สะอาด หน้าตาของเราต้อง ยิ้มแย้มแจ่มใส
2. ทางหู ให้เขาได้รับฟังสิ่งที่รื่นหู คำพูดที่นุ่มนวลไพเราะ น้ำเสียงแห่งความเมตตา อาทรห่วงใย
3. ทางจมูก อย่าให้มีกลิ่นไม่พึงประสงค์ มารบกวนทุกหนแห่ง อากาศที่หายใจต้องสะอาดบริสุทธิ์
4. ทางปากและลิ้น ต้องได้รับอาหารพอเพียง มีรสชาติ เพื่อให้เจริญอาหาร บำรุงร่างกายให้แข็งแรง
5. ทางกาย ต้องให้ทุกส่วนในร่างกายสัมผัสแต่ของนุ่มนวลไม่แข็งกระด้าง ไม่ระคายเคืองในทุกอริยบถ การถูกตัวด้วยความรัก ห่วงหาอาทร
6. ทางใจ อย่าให้เขาเกลียด กังวล ไม่สบายใจ ทำให้อารมณ์เสียให้เขามีโอกาสเลือกได้ตัดสินใจได้ อย่าใช้วิธีการบังคับ ทุกคำพูดควรให้กำลังใจเสมอ
มิตรภาพบำบัดทางจิต หลักธรรมะต่อไปนี้จะช่วยเยียวยาด้วยตนเองแม้ว่าจะป่วยหรือไม่ป่วยก็ตาม
1. ตั้งสติทุกอย่างให้ได้เป็นรากฐานแห่งชีวิต เช่นเมือรู้ว่าปวดท้อง ตั้งสติให้มั่นว่าจะต้องบำบัดอะไรต่อ
2. วิจัยธรรมหรือวิเคราะห์หลักความจริงต่างๆ รู้จักเลือกเฟ้นการดำเนินชีวิต การใช้ปัญญาพิจารณาค้นกาความรู้ ความจริง ความถูกต้อง สิ่งที่ดีงาม สิ่งที่เป็นประโยชน์ หรือหลักคำสอนที่ให้ความรู้เกี่ยวกับความจริงของชีวิต
3. วิริยะ มีความเพียร ความเป็นผู้กล้าหาญ มีพลังความเข็มแข็งของจิตใจที่จะเดินและก้าวต่อไป ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค ปัญหาความยุ่งยากลำบาก กล้าสู้กับความจริง
4. ปีติ คือความอิ่มใจ ความดื่มด่ำ ซาบซึ้ง ปลาบปลื้ม โดยสร้างปีติจากการคิด การพูด กระทำดี สร้างสรรค์ต่อสังคมส่วนรวม นับว่าปีติเป็นอาหารหล่อเลี้ยงสำคัญยิ่งของจิตใจ เป็นยาวิเศษที่สมานจิตใจได้ดีที่สุด
5. ความผ่อนคลายไม่กระสับกระส่าย ไม่เครียด สงบเย็น นั่นคือทำอย่างไรไม่ให้เครียด เครียดเพราะคิดวนเวียนแต่เรื่องเดิมๆ กังวลไม่รู้จบ ต้องหันเหความสนใจ หาทางผ่อนคลายด้วยวิธีต่างๆ เช่น เดินเล่น ออกกำลังกาย ท่องเที่ยวไปต่างจังหวัดสูดอากาศบริสุทธิ์ ทิวทัศน์ดี สัมผัสกับธรรมชาติ เป็นต้น
6. มีสมาธิ จิตตั้งมั่น จิตใจแน่วแน่อยู่กับสิ่งนั้น อย่างที่เรียกว่า ใจอยู่กับกิจ จิตอยู่กับงาน แน่วแน่ต่อการบำบัดรักษาของแพทย์ พยาบาล สนใจทำงานอดิเรกหรืองานประจำ ตั้งสติไม่ให้ความคิดวอกแวก
7. การรู้จักวางเฉย วางเฉยต่อการบำบัดรักษาตามกระบวนการรักษา วางเฉยต่อคำพูดต่างๆ ที่ไม่สบอารมณ์
ข้อคิดในการดำเนินชีวิตอย่างมีสติตามแนวชาวพุทธ
เราต้องเชื่อว่าความตายเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดใหม่ หรือไปสู่สวรรค์ หรือไม่เกิดอีกเลย ก่อนตายจากโลกนี้ ไม่ว่าด้วยสาเหตุใดๆ (ต้องตายทุกคน) ควรยังความดีให้ถึงพร้อม พึงนึกถึงบุญกุศล คุณงามความดีที่เราได้สร้างส้มไว้ ก็จะอิ่มอกอิ่มใจ ปีติ สงบสุข หากยังนึกไม่ออกว่ามีความดีอะไรบ้าง ก็จงเร่ง บำเพ็ญทาน (ทานบารมี) ในโอกาสต่างๆ เช่น
- การให้ทานด้วยทรัพย์สินแก่ผู้ยากไร้
- การให้ทานด้วยสายตาที่เมตตาปรานีต่อเพื่อนร่วมโลก
- การให้ทานด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใสเสมอ ให้กับตนเองและคนรอบข้าง
- การให้ทานด้วยวาจาที่ไพเราะ อ่อนหวาน น่าฟังต่อตนเองและผู้อื่น
- การให้ทานด้วยแรงกายช่วยเหลือผู้อื่น เช่น งานอาสาสมัคร สาธารณะกุศลต่างๆ
- การให้ทานด้วยการให้อาสนะที่นั่งภายในบ้าน หรือเสียสละที่นั่งบนรถโดยสาร
- การให้ทานด้วยการให้ที่พักสะดวกสบายแก่ผู้มาเยือนหรือผู้เดือดร้อน
- การให้ทานด้วยการให้อภัย ทั้งแก่ตัวเอง และคนรอบข้าง แม้แต่ศัตรูคู่อาฆาต
- การให้ทานด้วยการให้ธรรมะหรือคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ในการแก้ปัญหาต่างๆ
ทุกคืนก่อนนอนให้ระลึกถึงการบำเพ็ญทาน และบุญกุศล เมือใกล้ถึงวาระสุดท้ายแห่งชีวิตให้น้อมจิตระลึกถึงสิ่งที่ดีๆ หายใจเข้า-ออก ยาวๆ ลึกตามหลักอานาปานสติ มองเห็นตัวเองกำลังอยู่ในนิมิตที่มีความสะอาด สว่าง สงบ เมื่อตื่นนอนวันรุ่งขึ้นยังคงมีชีวิตอยู่จงเร่งกระทำความดีอย่างต่อเนื่อง ถึงเวลาก็นอนหลับอย่างมีสติ ปฏิบัติเช่นนี้ตลอดไป จนวาระสุดท้ายของชีวิต ยิ้มให้กับความดีของตนเองด้วยปีติจิตดับสู่...สุคติภูมิ
... ชีวิต คือความว่างเปล่า ...
โดย คุณกิจพัฒน์ เรืองช่วย
จิตอาสา รพ.ราชบุรี