ความเป็นมา

ความเป็นมา

จิตอาสา : บุคคลทรงคุณค่าของโรงพยาบาลราชบุรี
เอื้อเฟื้อ  เมตตา  อาสาช่วยงาน  บริการด้วยน้ำใจ

งานจิตอาสาโรงพยาบาลราชบุรี กำเนิดขึ้นจากคนกลุ่มหนึ่งที่อาสามาช่วยกันทำความดีด้วยการช่วยงานในโรงพยาบาลโดยไม่หวังผลตอบแทน มีการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า17ปีตั้งแต่ พ.ศ. 2537เริ่มจากบุคลากรทั้งแพทย์ พยาบาลที่เกษียณอายุราชการแล้วอาสามาช่วยงานในโรงพยาบาล ในปีพ.ศ.2544ได้ริเริ่มโครงการอาสาสมัครจิตอาสาจากชมรมผู้สูงอายุ โรงพยาบาลราชบุรีและต่อมาในปี พ.ศ.2550 ได้จัดทำโครงการจิตอาสาตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้บุคคลที่มีจิตสาธารณะมาแบ่งปันความสุขให้แก่ผู้รับบริการในโรงพยาบาล เชื่อมสัมพันธภาพอันดีระหว่างเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลกับผู้รับบริการ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน ช่วยแบ่งเบาภาระงานของเจ้าหน้าที่ ลดปัญหาการให้บริการ ลดข้อร้องเรียน เพิ่มความพึงพอใจแก่ผู้รับบริการ
การดำเนินงานโครงการจิตอาสาโรงพยาบาลราชบุรียุคใหม่ประกอบด้วยคณะกรรมการฝ่ายโรงพยาบาล มีรองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ นายแพทย์สุพจน์ จิระราชวโร เป็นประธานและคณะกรรมการฝ่ายจิตอาสา มี พ.อ.เชิด วงษ์ไทย เป็นประธาน มีผู้สนใจมาสมัครเป็นจิตอาสาเพื่อช่วยเหลืองานต่างๆ ในโรงพยาบาลทั้ง ข้าราชการ  ผู้สูงอายุ  นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป    ปัจจุบัน มีจิตอาสาที่มาช่วยปฏิบัติงานอย่างสม่ำเสมอจำนวน 59 คน  และมีกลุ่มจิตอาสาอื่น ๆ หมุนเวียนเข้ามาช่วยงานเป็นครั้งคราวอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย

จิตอาสาเหล่านี้มาปฏิบัติงานด้วยจิตที่เป็นกุศล เสียสละแรงกาย แรงใจและเวลา มีคุณธรรม มองเห็นคุณค่าชีวิตของผู้อื่น เมตตาผู้เจ็บไข้ได้ป่วย พร้อมที่จะเป็นผู้ให้ โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน นอกจากความสุข ความปลื้มปิติและความรู้สึกภาคภูมิใจในคุณค่าของตนเอง แม้ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ แต่ยังมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยและสังคม เป็นแบบอย่างที่ดีงามและเป็นกำลังใจให้กับบุคคลอื่นและผู้ศึกษาดูงานแม้ว่าร่างกายจะเสื่อมตามวัยแต่หัวใจไม่รู้โรยรา นอกจากนี้การทำความดีของจิตอาสาหลายๆคน เชื่อมเรียงร้อยกันเป็นกระแสของความดีที่ยิ่งใหญ่  ดึงดูดให้บุคคลต่างๆ เข้ามาทำความดีในโรงพยาบาลเพิ่มมากขึ้น
ชมรมอาสาสมัครจิตอาสา โรงพยาบาลราชบุรี อาสาสมัครทำงานด้วยจิตสาธารณะ (กุศลจิต) ร่วมกับเจ้าหน้าที่บุคลากรทางการแพทย์ โดยยึดอุดมการณ์เมตตาธรรม มิตรภาพบำบัดต่อเพื่อนมนุษย์ ภายใต้หลักหัวใจเดียวกัน (ใจเขาใจเรา) ช่วยเหลือเกื้อกูล ดุจบิดามารดา หรือญาติมิตรที่มีต่อผู้ป่วย